วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การอนุรักษ์นก

        ที่จริงนกในประเทศไทย ในแต่ละภาคจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพ ภูมิประเทศ แหล่งอาหาร ดินฟ้าอากาศถ้าดูนกกันอย่างจริงจังแล้วก็สามารถเดินทางไปดูได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ตามแต่ฤดูกาลที่เอื้ออำนวยที่แตกต่างกันไป อย่างในฤดูหนาวก็จะมีนกอพยพที่มาจากต่างประเทศ เช่น ดอย อินทนนท์ก็ดีหรือเขาสามร้อยยอดก็ดี ล้วนเป็นแหล่งนกอพยพที่น่าสนใจทั้งสิ้น

       ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวหันมาสนใจเรื่องธรรม- ชาติกันมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คงเริ่มต้นมาจากการดูนก จากชมรมดูนกที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มเอกชนที่เริ่มบุกเบิกใน เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าชมเชยอย่างยิ่งที่เขามองไกลว่าการให้ความรู้กับคนดูนกทำให้คนรักและสนใจนก ซึ่งเป็น วิธีสำคัญของการอนุรักษ์นกและธรรมชาติ ในเมืองไทยเวลานี้ ไม่ว่าจะไปที่เขาใหญ่ บางพระ หรือที่ แก่งกระจาน จะมีคนหนุ่มสาวไปตั้งแคมป์ ออกส่องกล้องดูนกกันเป็นจำนวนมากทุกสุดสัปดาห์ การดูนกจำเป็นจะต้องได้ครูที่ดี ไม่เช่นนั้นอาจเบื่อได้ และกล้องดูนกต้องมี คุณภาพดีพอสมควร มิฉะนั้นดูไปก็อาจทำให้ปวดตาได้ นอกจากประชาชนทั่วไปที่สนใจการดูนกแล้ว ได้มี โรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาเป็นจำนวนมาก พยายามจัดให้มีกิจกรรมการดูนกมากขึ้น ซึ่งเป็น กิจกรรมนอกชั้นเรียนที่สำคัญ นำไปสู่การปลูกฝังให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างกว้างขวางได้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมการพาเด็กไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ยังนับว่าทำกันน้อยมากในประเทศไทยซึ่งต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่นอเมริกาหรือยุโรปก็ดี พอถึงเวลา ปิดเทอมเขาก็จะพาเด็กๆไปท่องเที่ยวพักผ่อนสัมผัสธรรมชาติ อาจไปอยู่ตามเมืองในชนบทที่มีแหล่ง ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือโบราณสถาน นี่คือวิธีการปลูกฝังการอนุรักษ์ให้กับเด็ก จริงอยู่ถ้าจะกล่าวว่าเขา รวยแล้วเขาเที่ยวได้ง่าย คนไทยไปเที่ยวได้ยากเพราะเงินเดือนน้อย แต่สิ่งเหล่านี้ค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ พ่อแม่ ที่เป็นผู้ปกครองควรสละเวลาในวันหยุดพาเด็กๆไปสัมผัสกับธรรมชาติบ้าง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องไปไกล ถึงดอยอินทนนท์ หรือห้วยขาแข้ง แต่อาจเลือกไปดูนกตามสถานที่ใกล้ๆ เช่น บางปูเขาดิน หรือสวนลุมพินี ก็ได้
       ในเรื่องของการดูนกและอนุรักษ์นก คงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กระดับประถม มัธยม เพราะเมืองไทยมีนกค่อนข้างมาก ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะเจอแต่นกทั้งนั้น การดูนกจะเพลิดเพลินยิ่งขึ้นถ้าจะ ศึกษาข้อมูลสักนิดว่านกมีการอพยพย้ายถิ่นหากินด้วย แม้กระทั่งในเมืองเราก็ยังพบเห็นนกอพยพในบาง ฤดูกาล เช่นฤดูหนาวจะมีนกอพยพลงมาจากประเทศจีนและไซบีเรียเข้าสู่ไทยและเลยไปจนถึงภาคใต้ บางชนิดอพยพลงไปจนถึงทวีปออสเตรเลียก็มี เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้คนสนใจเรื่องนกจริงๆโดยเฉพาะ นักเรียนนักศึกษา เราจำเป็นต้องให้ข้อมูลเหล่านี้กับเขาด้วย และนกเป็นสิ่งที่จะทำให้คนมีใจรักธรรมชาติได้ง่าย ด้วยความสวยงามจากสีสันของขนนก ตัวมันเองจึงเป็นจุดดึงดูดที่ดีแต่ถ้าหากเรามองนกด้วยตาเปล่าแล้ว อาจจะไม่ให้ความสนใจในตัวมันมากเท่ากับการส่องดูนกด้วยกล้อง พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลทางนิเวศของมันจาก ตำราดูนกควบคู่กันไปด้วย ถ้าเป็นคนช่างสังเกตก็จะเห็นว่า เมื่อถึงฤดูนกผสมพันธุ์มีครอบครัวน้น พอลูกนก ออกจากไข่แล้วมันจะมีพ่อแม่คอยเลี้ยงดูอยู่สักระยะหนึ่งอย่างเช่น นกกางเขนบ้าน บ้านเกือบทุกหลังแถบชาน เมืองมักจะมีนกชนิดนี้มาอาศัยอยู่ ซึ่งเราจะมองเห็นถ้าเราเป็นคนช่างสังเกต แต่มีปัญหาอยู่นิดเดียวว่าการดูนก ให้เกิดการปลูกฝังจิตสำนึกในการรักนก อนุรักษ์นก ควรจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยดู นั่นคือกล้องส่อง ทางไกลที่มีกำลังขยาย 8-10 เท่า เราจึงจะมองเห็นได้ว่านกมีความสวยงามแค่ไหนถ้าดูด้วยตาเปล่าแล้วนกตัว เล็กดูแล้วอาจไม่มีความน่าสนใจเท่าไรนัก
การอนุรักษ์นกกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งสองสิ่งนี้จำเป็นต้องกระทำควบคู่กันไป เพราะนกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดี นกก็อยู่ไม่ได้ นั่นก็หมายความว่านนกต้องการอยู่ ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกทำลายง่าย ไม่มีใครไปยิงหรือว่ามีแหล่งอาหารให้หากินเพียงพอ นกบางชนิดหากินใน อากาศ บางชนิดหากินบนพื้นดิน ทำรังบนพื้นดิน นกไม่จำเป็นต้องทำรังบนต้นไม้เสมอไป ยังมีนกอีกหลายร้อย ประเภทที่ทำรังบนทุ่งหญ้า ซึ่งทุ่งหญ้าต่างๆเหล่านี้อาจมีกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลกระทบ เช่น การเดินทาง สัญจรผ่านไปมา การเลี้ยงสัตว์ ทำให้นกที่ทำรังบนทุ่งหญ้าต้องเสี่ยงต่อกรถูกทำลายได้ง่ายเหมือนกัน ประเทศที่เจริญแล้วมีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ห้ามล่าหรือพื้นที่สงวน เพื่อ กิจกรรมดูนกโดยเฉพาะ เขาจะไม่ให้มีกิจกรรมอื่นที่ไปทำลายสภาพแว้ดล้อมในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่อง น่าเสียดายที่บ้านเรายังดำเนินการไม่ได้

         เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระมีพื้นที่ติดกับขอบอ่างเก็บน้ำ เป็นพื้นที่โล่งบริเวณกว้าง ขวาง พื้นที่เหล่านี้จริงๆ แล้วน่าที่จะห้ามไม่ให้นำวัวควายเข้าไปเลี้ยง หรือให้คนขับรถเข้าไปวางอวนลงแห เพราะจะต้องผ่านพื้นที่ที่นกทำรัง และเลี้ยงลูกเมื่อตอนยังเล็ก แต่กับมีรถวิ่งกันขวักไข่วไปหมดทางที่ดี ควรกันพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านจับปลาได้ แต่ก็ควรกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่ารถควรวิ่งตรงใหนได้ตรง ไหนไม่ได้ วิธีการเหล่านี้จะช่วยในการคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยของนกที่ทำรังบนทุ่งหญ้า บริเวณอ่างเก็บนำบางพระนั้นมีนกไม่ตำกว่า 200 ชนิดซึ่งมีเพียงนักดูนกจริงๆ เท่านั้นถึงจะรู้ว่าที่นี้เป็นสวรรค์ของการดูนกอีกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวจะมีนกอพยพมาหากิน ตามชายน้ำริมอ่างเป็นจำนวนมาก การกำหนดเขตเพื่อควบคุมกิจกรรมของมนุษย์จึงเป็นแนวทางที่นำไป สู่การอนุรักษ์นกที่นี้ได้

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยจังหวัดพัทลุง และบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์เป็น แหล่งดูนกที่หากินในน้ำ เป็นอุทยานนกกรือ "Bird Park" ที่เปิดโล่งตามธรรมชาติ ทั้ง 2 แห่งมีพื้นที่สำหรับ การถ่ายภาพ และการดูนกที่ดีที่สุดเช่นกัน อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของนกที่นี่ถือ ได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) ที่สำคัญมากของประเทศไทย แต่ที่น่าเสียดายก็คือว่ายังมีปัญหาในการ จัดการอยู่ เช่นที่พรุควนเคร็งปัจจุบันยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุ มีการทำถนนตัดเข้าไปซึ่งถือเป็นการทำลาย ถิ่นหากิน ถิ่นที่อยู่อาศัย ของนก นกทะเลที่น้อยแต่เดิมเคยมีค้อนข้างมาก เมื่อ 20 ปีที่แล้วมีนก

จำนวนเป็นหมื่นๆ ตัว แต่ปัจจุบันนก เป็ดน้ำต่างๆ ลดปริมาณลงมากเมื่อพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยลดน้อยลงอาหารน้อยลง เพราะการถูกบุกรุกนกก็ จะย้ายถิ่นฐานมีผลโดยตรงต่อการอนุรักษ์นักท่องเที่ยว อุทยานนกในต่างประเทศบางแห่งเขาทำเป็นกรงขนาดใหญ่ที่นกสามารถบินได้ เรียกว่า Aviary ไม่ใช่กรงเล็กๆ อย่างในสวนสัตว์บ้านเรายกเว้นที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ที่มีกรงขนาดใหญ่บางคนอาจมองว่าเป็นการนำสัตว์มากักขัง




แต่อย่างไรก็ตาม การที่มีกรงนกขนาดใหญ่เช่นนี้ก็มีประโยชน์ในแง่ที่จะ ดึงดูดคนที่ไม่เคยสนใจนก และเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนให้ได้มาเห็นนกใกล้ๆ ได้เห็นสีสันชัดเจนได้เห็น พฤติกรรมของนกจนเกิดความชื่นชอบขึ้น ในที่สุดสิ่งนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่จะช่วยเสริมเรื่องการอนุรักษ์นก ได้เช่นกัน

การดูนก

     การดูนกเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินสนุกสนานแล้ว ยังได้รับความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ “ นก ” ในความรู้สึกของคนหลายๆ คนเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ ที่มีปีก ชอบส่งเสียงร้อง บินไปบินมาให้เห็นอยู่ทุกวัน หาใช่สัตว์ที่หายาก นี่คือปรากฏการณ์ทั่วไปที่หลายคนรู้สึกได้ แต่ความจริงแล้วเจ้านกตัวน้อยๆ เหล่านี้แหละ ที่มีบทบาทสำคัญ ในการรักษาไว้ซึ่งสมดุลย์แห่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดแมลง หรือศัตรูพืช นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยแพร่กระจายพันธุ์พืชให้ดำรงอยู่ ดังนั้นการดูนก เข้าใจธรรมชาติของนก และธรรมชาติรอบตัวเรา ย่อมนำมาซึ่งจิตสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกันด้วยความรัก และความเกื้อกูลต่อกัน และกัน เห็น และเข้าใจในความสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางวัตถุกับสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตซึ่งก็รวมถึงมนุษย์ด้วย ดังนั้นการดูนกจึงเท่ากับเป็นการสะท้อนกลับมาดูตัวมนุษย์เองด้วย เพราะมนุษย์ก็คือส่วนหนึ่งแห่งธรรมชาตินั่นเอง สีสันที่สวยงาม เสียงร้องที่ไพเราะ พฤติกรรมที่น่ารักของนก จะช่วยหล่อหลอมให้จิตใจของเรามีความสุข ผ่อนคลายจากความตึงเครียดในการทำงาน ได้สัมผัสกับอากาศที่บริสุทธิ์ และธรรมชาติที่งดงามซึ่งยากยิ่งนักที่เราจะหาได้ในเมืองที่วุ่นวายจากการจราจร การเร่งรีบ และการแข่งขัน ให้รางวัลกับชีวิตบ้างเถอะ ด้วยการคืนสู่ความงามและ ความบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ โดยมีเจ้านกตัวน้อยๆ เป็นเพื่อนที่ให้ความสุข และความจริงใจ “ มาดูนกกันเถอะ ”


ประโยชน์ที่ได้จากการดูนก

     1. เพื่อเป็นการพักผ่อนเพลิดเพลิน
     2. ทำให้เป็นคนช่างสังเกต หูไว ตาไว มีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาสิ่งต่างๆ
     3. ได้รู้จักธรรมชาติ การออกไปดูนกทำให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติหลายๆ รูปแบบ รู้จักสภาพป่าลักษณะต่างๆ เช่น ป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเบญจพรรณ ท้องทุ่ง และป่าชายเลน ได้เรียนรู้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไปในตัว เพราะนกแต่ละชนิดจะมีการปรับตัวเอง มีการดำรงชีพในป่า หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นของตนเอง อย่างเช่น อาจจะไม่พบนกที่หากินอยู่ตามชายทะเลในป่าดิบ เป็นต้น
      4. ได้รับความรู้เกี่ยวกับนก เมื่อได้รู้จักสภาพแวดล้อมของนกแล้ว ยังจะทำให้เราได้รู้จักนกชนิดต่างๆ ที่ได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา เสียงร้อง สีสัน ลักษณะการหากิน ชนิดอาหาร การทำรัง และพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ เช่น การเกี้ยวพาราสี เป็นต้น
      5. เห็นความสัมพันธ์ต่างๆในธรรมชาติ นกกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีความสัมพันธ์กัน บางครั้งเมื่อเราพบนกชนิดหนึ่งเราก็จะบอกได้ว่าขณะนี้ฤดูหนาวกำลังเริ่มแล้ว เพราะนกตัวนั้นเป็นนกที่อพยพมาจากบริเวณทางเหนือของทวีปที่มีอากาศหนาว หรือเราพบนกบางชนิดในพื้นที่ก็แสดงว่า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมลงไปแล้ว แต่บางชนิดก็บอกเราว่าป่านั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ อย่างเช่น การได้พบนกเงือก เป็นต้น
      6. เห็นคุณค่า และประโยชน์ของนก นกได้ให้ประโยชน์อย่างมากกับมนุษย์ และธรรมชาติ ช่วยในการแพร่พันธุ์ของพืช ช่วยกำจัดแมลง และหนอนที่เป็นศัตรูของพืช โดยที่เห็นกันง่ายๆ ก็คือ นกนางแอ่นที่เกาะตามสายไฟนับพันนับหมื่นตัว แต่ละตัวจะบินร่อนจับแมลงและยุงได้นับล้านๆ ตัว ซึ่งถ้าหากนกเหล่านี้ถูกทำลาย หรือถิ่นอาศัยถูกรบกวนจนไม่อาจอยู่ได้ เราก็จะไม่มีผู้ช่วยควบคุมแมลงเหล่านั้น ซึ่งก็จะต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากไปกับยาฆ่าแมลง และผลร้ายจากการตกค้างของสารพิษก็คงไม่พ้นที่จะตกกับมนุษย์เอง
      7. ทำให้เกิดความรัก และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์นก เพียงแค่การไม่ทำร้ายนก และให้แหล่งอาศัยแก่นกในบริเวณบ้านของเรา ก็ถือเป็นการอนุรักษ์ทางอ้อมอย่างดีแล้ว การปลูกต้นไม้ เช่น ต้นไทร ต้นตะขบ หรือแม้แต่ต้นกล้วยในบ้านเรา ผลไม้เหล่านี้ก็จะเป็นแหล่งหาอาหารอย่างดีให้แก่นกตัวน้อยๆได้อาศัยจิกกิน หรือบางท่านอาจส่งเสริมด้วยการจัดที่ให้อาหารนก เช่น มะละกอสุก กล้วย ข้าวเปลือก พร้อมน้ำหวาน ไว้ตามมุมบ้านหรือใต้ต้นไม้ จะช่วยให้นกมีความคุ้นเคย และเข้ามาใช้บริการให้เราได้มีความสุขกับการที่นกมาจิกกิน หรืออาจจะเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์นก โดยการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือการบริจาคให้กับองค์กร หรือกลุ่มที่มีกิจกรรมในการอนุรักษ์นก เป็นต้น
การดูนกภาคสนาม
     
         การดูนกภาคสนาม เป็นการออกไปดูนกในธรรมชาติ โดยอาศัยอุปกรณ์ช่วย เช่น กล้องส่องทางไกล แบบตามเดียว (Scope) หรือแบบสองตา (Binocula) เนื่องจาก นกในธรรมชาติ จะเปรียว ไม่ยอมให้คนเข้าใกล้ ทำให้จำแนกด้วย ตาเปล่ายาก เนื่องจาก เห็นไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วย ข้างต้น อุปกรณืช่วย ทั้ง 2 อย่าง นี้ จะใช้ อย่างใด อย่างหนึ่ง หรือทั้ง 2 อย่าง ก็ได้ แต่ละอย่าง จะมีคุณภาพแตกต่างกันไป ตามราคาของอุปกรณ์นั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปกรณ์อีกหลายชนิด ที่จำเป็นสำหรับ การดูนกภาคสนาม แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ นอกจากนี้ มีข้อควรปฏิบัตอีกหลายวิธี สำหรับผู้ที่จะออกไปดูนกภาคสนาม ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปพอสรุปเป็นข้อๆ รายละเอียดดังรูปนี้


แหล่งที่อยู่อาศัยของนก

แหล่งที่อยู่อาศัยของนก
      นกแต่ละชนิดต้องการสภาพนิเวศของแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินที่แตกต่างกันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมากจากวิวัฒนาการ การปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับ สภาพแวดล้อม เพื่อการอยู่รอด หากจำแนกนกตามแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินแล้วสามารถจำแนกออกได้ ดังนี้

1. พวกนกน้ำที่อาศัยและหากินกลางทะเล
2. พวกนกน้ำที่อาศัยและหากินในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ
3. นกที่อาศัยและหากินในป่า
4. นกที่อาศัยและหากินในบริเวณทุ่งโล่ง


    แหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของนกส่วนใหญ่อยู่ตามป่าไม้ธรรมชาตแต่ก็มีนกหลายชนิดที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและแหล่ง หากินที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของบ้านเมืองและการพัฒนาของ มนุษย์โดย อพยพมาอาศัยอยู่ ตามชานเมืองหรือแหล่งชุมชนนกแต่ละชนิดมีถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของนกและ ความสามารถ
ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป

แหล่งที่อยู่อาศัยของนกมีดังนี้

     ป่าไม้ (forest) นกแต่ละชนิดอาศัยและหากินอยู่ในป่าที่มีลักษณะแตกต่างกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดป่าประเภทต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ลักษณะและ คุณสมบัติของดิน และความสูงจากระดับน้ำทะเล ซึ่ง นิวัติ (2537) กล่าวว่า ป่าในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น
2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ป่าไม่ผลัดใบหรือป่าดงดิบ (evergreen forest) และป่าผลัดใบ (deciduous forest)
    ป่าไม่ผลัดใบหรือป่าดงดิบ (evergreen forest) ป่าประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 30% ของพื้นที่ป่าของประเทศแบ่งย่อยออกไปได้อีก 4 ชนิด คือ
ป่่าดงดิบเขตร้อน (tropical evergreen forest) เป็นป่าที่อยู่ในเขตที่มีลมมรสุมพัดผ่านอยู่เกือบตลอดทั้งปี มีปริมาณน้ำฝนมาก ดินมีความชุ่มชื้น อยู่ตลอดเวลา มีอยู่ทั้งในที่ราบและที่เป็นภูเขาสูง มีกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงภาคใต้แบ่งย่อยตามสภาพความ ชุ่มชื้นและความสูงต่ำ ของสภาพภูมิประเทศได้ดังนี้
ป่าดงดิบชื้น (tropical rain forest) ป่าชนิดนี้โดยทั่วไปเรียกว่าป่าดงดิบ มีมากที่สุดในแถบจังหวัดที่อยู่ทางฝั่งทะเลตะวันออก เช่น
ระยอง จันทบุรี และภาคใต้ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าภาคอื่นๆ ลักษณะทั่วไปเป็นป่ารกทึบ ประกอบด้วยพรรณไม้มากมายหลายร้อยชนิด พรรณไม้ที่สำคัญในป่าชนิดนี้ เช่น ยาง ตะเคียน สยา ไข่เขียว กะบากขาว กะบากทอง ตีนเป็ดแดง รัก จิกเขา ขนุนนก ฯลฯ พื้นป่ามักรกทึบประกอบไปด้วยไม้พุ่ม ปาล์ม หวาย ไม้ไผ่ เถาวัลย์ ชนิดต่างๆ ป่าชนิดนี้แทบจะกล่าวได้ว่าไม่ได้รับผลเสียหายจากไฟป่าเลย และถ้าหากป่าถูกทำลายลงจะด้วยการกระทำของมนุษย์หรือ ภัยธรรมชาติก็ตาม พวกต้นเต้าและต้นสอยดาว จะเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว ป่าดงดิบมีความหลากหลายของนกมากโดยมีนกเงือกเปรียบ เสมือน สัญลักษณ์ ของป่าดงดิบ นอกจากนี้ก็มีพวก นกปรอด นกขุนแผน นกจับแมลง นกแต้วแล้ว นกกินแมลง และนกพญาปากกว้าง ฯลฯ
ป่าดงดิบแล้ง (dry evergreen forest) มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศตามที่ราบเรียบหรือตามหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ปานกลางประมาณ 300 ถึง 600 เมตร และมีน้ำฝนระหว่าง 1,000 ถึง 1,500 มิลลิเมตรต่อปี พรรณไม้ต่าง ๆ ที่ขึ้นมีอยู่หลายชนิด เช่น กะบากด กะบากโคก ยางนาหรือยางขาว ยางแดง ตะเคียนหิน สมพง มะค่าโมง ปออีเก้ง กัดลิ้น กระเบากลัก ข่อยหนาม กะบก ไม้พลอง ฯลฯ พืชชั้นล่างก็มีพวก ปาล์ม หวาย ขิง และข่าต่าง ๆ แต่ปริมาณไม่ค่อยหนาแน่นนัก และค่อนข้างเตียนโล่ง
ป่าดงดิบเขา (hill evergreen forest) เป็นป่าที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูงทางภาคเหนือและบางแห่งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่ทุ่งแสลงหลวงจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ป่าภูกระดึง จังหวัดเลยฯลฯ มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000 ถึง 2,000 มิลลิเมตรต่อปี พรรณไม้ที่สำคัญในป่าชนิดนี้ได้แก่ไม้ในวงศ์ก่อ (Fagaceae) เช่น ก่อสีเสียดหรือก่อตาควาย ก่อตาหมูน้อย หรือก่อแพะ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อเลือด ก่อนก นอกจากนี้ยังมีสนสามพันปี พญามะขามป้อม พญาไม้ ขุนไม้ มณฑาป่า ทะโล้ ยมหอม กำลังเสือโคร่ง สนแผง อบเชย กำยาน มะขามป้อมดง ฯลฯ ป่าชนิดนี้บางทีก็มีพวกสนเขาขึ้นปะปนอยู่ด้วย ส่วนไม้พื้นล่างมักเป็น พวกเฟิร์น กล้วยไม้ดินและมอสต่าง ๆ แต่บางแห่งก็มีต้นกุหลาบป่าขึ้นอยู่ด้วย ป่าชนิดนี้มักอยู่บริเวณต้นน้ำลำธารและกำลังถูกทำลายอย่างหนักโดยเฉพาะ ทางภาคเหนือของ ประเทศไทย สำหรับนกเด่นของป่าประเภทนี้ ได้แก่ นกศิวะ นกปรอด นกจับแมลง รวมทั้งนกเดินดง และนกจาบปีกอ่อนที่อพยพ ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาว
   ป่าสนเขา (coniferous forest) ป่าสนมีกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ตามภาคเหนือเช่น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดเลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี มีอยู่ตามภูเขาและที่ราบบางแห่งที่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 200 เมตร ขึ้นไป บางครั้งจะพบขึ้นอยู่กับป่าแดงและป่าดิบเขา ป่าสนโดยทั่วไปมันจะขึ้นอยู่ในที่ดินพื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ เช่น ตามสันเขาที่ค่อนข้าง แห้งแล้ง ในประเทศไทยมีสนเขาอยู่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ สนสองใบ และสนสามใบ นอกจากต้นสนเขาแล้วป่าชนิดนี้จะมีไม้พวก เหียง พลวง และพวกก่อขึ้นปะปนอยู่ พืชชั้นล่างจะมีพวกหญ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟไหม้อยู่เสมอ และน้ำมันจาก เนื้อไม้สนก็เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ฉะนั้นป่าชนิดนี้ต้องมีการป้องกัน ไฟป่า อย่างรัดกุมและเข้มงวด เนื่องจากป่าสนเขาเป็นป่าโปร่งที่มีพรรณไม้อยู่ไม่มากนักโดยเฉพาะไม ้ขนาดใหญ่จึงพบนกอาศัยอยู่น้อย แต่ก็เป็นถิ่นอาศัย ของนกไต่ไม้ใหญ่ นกติ๊ดใหญ่ นกปีกลายสก๊อต และนกหัวขวานหลายชนิด ฯลฯ
ป่าพรุหรือป่าบึง (swamp forest) คือป่าที่อยู่ตามที่ราบลุ่มมีน้ำขังเสมอและตามริมฝั่งทะเลที่มีโคลนเลนทั่ว ๆ ไป ที่มีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 2,000 มิลลิเมตร ต่อปี แบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้อีก 2 ชนิด คือ
ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (fresh water swamp forest) ป่าประเภทนี้อยู่ถัดจากชายฝั่งทะเลเข้ามาหรือบริเวณที่ลุ่มที่มีการทับถมของซากพืชและอินทรีย์วัตถุที่ไม่
สลายตัว จะมีน้ำท่วมหรือชื้นแฉะตลอดทั้งปี ดินเป็นดินตะกอนหรือดินโคลน ป่าพรุชนิดนี้ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในจังหวัดนราธิวาส พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่มี สำโรง จิกนม จิกนาหรือ กระโดนน้ำ กะเบาน้ำ หงอนไก่ทะเล กันเกรา และหลาวชะโอน ฯลฯ ธรรมชาติของป่าพรุมีจุดเด่นอยู่ที่ต้นไม้จะมี
รากแขนงแผ่กว้างแข็งแรงเป็นพูพอนช่วยค้ำยันลำต้น เช่น สะเตียว ตังหนและช้างไห้ ฯลฯ เป็นไม้เด่น รวมทั้งหลุมพี หมากแดงและกะพ้อ ปัจจุบันป่าพรุที่สมบูรณ์เหลือ อยู่เพียงแห่งเดียวที่จังหวัดนราธิวาส นกที่พบในป่าพรุเป็นนก ในเขตซุนด้า (sundaic bird) ที่กระจายพันธุ์ขึ้น
มาจาก ประเทศมาเลเซีย นกหลายชนิดเป็นนกหายาก เช่น นกเปล้าใหญ่ นกเค้าแดง นกกินแมลงหลังฟู และเป็ดก่า ฯลฯ แต่ในป่าพรุไม่พบนก ที่อาศัยและหากินอยู่ตามพื้นดินเลย อาทิเช่น นกกระทา และนกแต้วแล้ว นอกจากนี้ป่าพรุโต๊ะแดงยังเป็นแหล่งสร้างรังของนกตะกรุม อีกด้วย
ป่าโกงกางหรือป่าชายเลน (mangrove swamp forest) ป่าชนิดนี้จะขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีดินโคลนและน้ำท่วมถึง เช่น ตามฝั่งทะเล ด้านตะวันตกตั้งแต่่จังหวัดระนองถึงจังหวัดสตูล ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดสมุทรสงครามถึงจังหวัดตราดและจากจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ไปจนถึงจังหวัดนราธิวาสเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในทะเลและมีคุณค่าต่อการรักษาสมดุลของธรรมชาติ พืชในป่าชายเลนแต่ละชนิดมีรากค้ำจุน และรากอากาศ พรรณไม้ที่สำคัญในป่าชนิดนี้ส่วนใหญ่ อยู่ในวงศ์ Rhizophoraceae เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โกงกางหัวสุม นอกจากนี้ ยังมี แสม ลำพู ลำแพน เหล่านี้เป็นต้น และมักจะขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ แยกออกเป็น แต่ละสกุลไป ส่วนพืชชั้นล่างนั้นมีน้อย
ป่าชายเลนและป่าโกงกางเป็นป่าที่กำลังจะหมดไปจากประเทศไทยเนื่องจากการพัฒนาชายฝั่งทะเลให้เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออกไปขายยังต่าง
ประเทศ เป็นหลัก ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลต้องหมดไป นกหลายชนิดที่หากิน และอาศัยอยู่ใน เฉพาะในป่าชายเลนและ ป่าโกงกางก็ได้รับผลกระทบด้วย เช่น นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล นกแต้วแล้วป่าโกงกาง นกกินเปี้ยว และนกโกงกางหัวโต นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อนกฟินฟุทและนกกระสาคอดำซึ่งอยู่ในสถานภาพกำลังจะสูญพันธุ์ ไปจาก ประเทศไทยในไม่ช้านี้
ป่าชายหาด (beach forest) เป็นป่าที่มีอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินกรวดทรายและโขดหิน พรรณไม้จะผิดแผกไปจากที่ถูกน้ำท่วม ถึง ถ้าชายฝั่งเป็นดินทรายก็จะมีสนทะเลขึ้นอยู่เป็นกลุ่มก้อนไม่ค่อยมีพรรณไม้อื่นปะปนเลยพืชชั้นล่างก็มีพวกตีนนกและพันธุ์ไม้เลื้อยอื่นๆ อีกบางชนิด ถ้าเป็นดินกรวดหินพรรณไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นพวก กะทิง หูกวาง ฯลฯ

ป่าผลัดใบ (deciduous forest) ป่าผลัดใบแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
ป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ (mixed deciduous forest) ป่าชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ส่วนทาง ภาคใต้ไม่ปรากฏว่ามีป่าชนิดนี้อยู่เลย ป่าชนิดนี้มักจะมีต้นสักขึ้นปะปนอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะ ทางภาคเหนือและภาคกลางบางแห่ง ส่วน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ป่าเบญจพรรณอยู่น้อย ลักษณะของป่าเบญจพรรณโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วยต้นไม้ขนาดกลางเป็น ส่วนใหญ่ พื้นป่า ไม่รกทึบ มีต้นไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่มาก ในฤด ูแล้งต้นไม้ต่างๆ จะพากันผลัดใบและมีไฟป่าอยู่ทุกปี มีพรรณไม้ขึ้นปะปนกัน หลายชนิด เช่น สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง ชิงชัน เก็ดแดง ตะแบก รกฟ้า ยมหิน มะเกลือ มะกอก สมอไทย สมอพิเภก โมกมันฯลฯ พืชชั้นล่างก็มีพวกหญ้า กก ต้นไผ่ชนิดต่างๆ เช่น ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่นวล ฯลฯ ป่าเบญจพรรณเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อนกและสัตว์ป่ามาก เพราะเป็นป่าผลัดใบที่มีความ หลากหลาย ของพรรณพืชมาก ป่าเบญจพรรณมี ความชุ่มชื้นมากกว่า ป่าเต็งรังมีต้นไม้ขนาดใหญ่และไม้พุ่มหนาแน่นกว่าแต่ไม่รกทึบ อย่างป่าดงดิบ จึง เหมาะ แก่การหากินของสัตว์ป่าและ นกนานาชนิดและยังมีอาหารให้เลือกกินมากมายจึงพบนกและสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายโดย มีพวกไก่ฟ้า นกหัวขวาน นกโพระดก และนกเขียวก้านตองเป็นนกเด่น
ป่าแพะ ป่าแดง ป่าโคก หรือป่าเต็งรัง (deciduous dipterocarp forest) ป่าชนิดนี้มีอยู่มากทางภาคเหนือ ภาคกลางและภาค
ตะวันออก เฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้แถบจังหวัดจันทบุรีไม่ปรากฏว่ามีอยู่ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับว่ามีมาก ที่สุดคือประมาณ 70 ถึง 80% ของป่าชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในภาคนี้ทั้งหมด ป่าชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งที่ราบและที่เขาสูง ดินมักเป็นดินทรายและ
ดินลูกรัง ซึ่งจะมีสีค่อนข้างแดง ในบางแห่งจึงเรียกว่า ป่าแดง ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเนินที่เรียกกันว่า
โคก จึงได้ชื่อว่า ป่าโคก ลักษณะของป่าชนิดนี้ี้เป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย พื้นป่าไม่รกทึบ มีหญ้าชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะหญ้าเพ็กและไผ่ชนิดต่างๆ ทุกๆ ปีจะมีไฟไหม้ป่าชนิดนี้ พรรณไม้ที่ขึ้นในป่าชนิดนี้ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด แสลงใจ มะขามป้อม พะยอมฯลฯ เนื่องจากป่าเต็งรังมีลักษณะ เป็นป่าโปร่ง และมีความหลากหลายของพรรณไม้ น้อยจึงพบนกอาศัยอยู่น้อยกว่าป่าไม้ชนิดอื่นโดยมีพวกนกหัวขวานชนิดต่างๆ เป็นนกเด่นของป่าเต็งรัง รวมทั้งนกปีกลาย สก๊อตและนกขุนแผน นอกจากนี้ก็มีพวกนกกระจิบหญ้าและนกกระติ๊ดตาม พงหญ้า ส่วนตามพื้นล่างมีนกกระทาทุ่งเดินหากิน
ป่าหญ้า (savanna forest) เป็นป่าที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ป่าธรรมชาติชนิดอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้นได้ถูกทำลายไปหมด ดินมีสภาพเสื่อมโทรม ต้นไม้ไม่อาจขึ้นหรือเจริญเติบโตต่อไปได้ พวกหญ้าต่างๆ จึงเข้ามาแทนที่ จะพบอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย บริเวณที่ เป็นป่าร้างและไร่ร้าง หญ้าที่ขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นหญ้าคา แฝกหอม หญ้าชันอากาศ หญ้าพงและสาบเสือ ฯลฯ อาจจะมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ กันบ้าง เช่น กระโดน กระถินป่าหรือ กระถินพิมาน สีเสียดแก่น ประดู่ ซึ่งเป็นไม้พวกที่ ทนทานต่อไฟป่าได้ดีมาก ป่าหญ้าจัดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของพวกสัตว์กินพืชในป่า
หาดทรายและหาดโคลน (beach and mudflat) หาดทรายคือ บริเวณชายหาดที่เป็นทรายหรือดินปนทราย พรรณไม้ที่มีอยู่บริเวณนี้ ได้แก่ สนทะเล โพธิ์ทะเล ส่วนหาดโคลนก็คือพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นโคลนหรือโคลนปนทราย บริเวณหาดโคลนบางส่วนที่น้ำทะเลท่วมถึง แต่ไม่ตลอดเวลาทำให้มีพืช ขนาดเล็กและลำต้นเตี้ยขึ้นอยู่ได้ ในช่วงเวลาน้ำลดจะเป็นแหล่งหากินของนกชายเลนหลายชนิด หาดทรายและหาดโคลนตามชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่ที่มี ีความสำคัญสำหรับนกชายเลน นกอีก๋อย นกกระสา นกยาง และนกยางทะเล นกหลายชนิดกำลังจะหมดไป เช่น นกหัวโตมลายู นกที่อพยพย้ายถิ่นมาใน ฤดูหนาวเช่น นกซ่อมทะเลอกแดง นกหัวโตกินปูฯลฯ นอกจากนี้หาดทรายที่สงบเงียบยังเป็นแหล่งสร้างรัง วางไข่ของนกหัวโตมลายูและนางนวลแกลบเล็กด้วย แต่เนื่องจากการพัฒนาหาดทราย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้นกทั้งสองชนิดขาดแคลนสถานที่ขยายพันธุ์จนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และอาจสูญพันธุ์ไปในไม่ช้านี้
ป่าเกาะและทะเล (island and sea) ป่าเกาะหมายถึงป่าบนเกาะในทะเลซึ่งเป็นแหล่งพักพิง เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งสร้างรังของพวก นกทะเล หรือ นกที่ย้ายถิ่น ข้ามทะเล หรือข้ามทวีป เช่น พวกนกโจรสลัด นกนางนวล และนกประจำถิ่น เช่น นกชาปีไหนและนกลุมพูขาว ฯลฯ
เขาหินปูน (limestone outcrops) ประเทศไทยมีเขาหินปูนกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ บนเขาหินปูนมีป่าผลัดใบ ที่มีพรรณไม้ ขนาดเล็กขึ้นอยู่ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของนกหลายชนิดที่หลบหนีจากการทำลายป่าในที่ราบขึ้นไปอาศัย เช่น นกจู๋เต้น เขาหินปูน ซึ่งเป็นนกที่ ชอบอาศัยอยู่ตามเขาหินปูน นอกจากนี้ยังมีนกหลายชนิดที่อาศัยเขาหินปูนเป็นสถานที่สร้างรัง วางไข่ เช่น เหยี่ยวเพเรกริน
นกนางแอ่นผาสีคล้ำ และนกแอ่น อีกหลายชนิด

ชีวิตของนก


      นกมีรูปร่างลักษณะขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจดหาง 15 ซม. ชนิดย่อยที่แพร่กระจายมากที่สุด คือ P.P.angelorum นกตัวผู้นอกฤดูผสมพันธุ์ กระหม่อมมีกระจุกขนคล้ายหงอนสั้นๆ สีเหลืองอ่อนๆ อก และท้อง สีน้ำตาลอมขาว หรือสีเนื้อ มีลายขีดสีเข้มจางๆ เล็กน้อย คอค่อนข้างขาว ขนคลุมหลังมีพื้นสีน้ำตาลอมขาว หรือสีเนื้อ มีลายเป็นขีดตามแนวลำตัวสี เหลืองปนดำกระจาย คล้ายลายบนหลังของนกกระจอกบ้าน ปากอ้วนสั้นเป็นรูปกรวย แต่จะบางกว่าปากของนกกระจาบทอง ปีกสั้น หางสั้น ปลายปีกมน ลำตัวด้านล่างสีจางกว่าลำตัวด้านบน ในฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้จะมีกระหม่อมสีเหลืองสด หน้าด้านข้างมีลายขีดสีดำ เห็นชัดกว่านอกฤดูผสมพันธุ์ นกตัวเมียนอกฤดูผสมพันธุ์ สีลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลอมขาว หรือสีเนื้อคล้ายนกกระจาบอกลาย เพียงแต่ลายที่ท้องจะจางมาก ในฤดูผสมพันธุ์นกตัวเมียจะมีสีของลำตัวเข้มขึ้น ลายขีดที่หลัง และปีกจะเข้มชัด ขีดที่ท้องจะเข้ม มากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่มากเหมือนนกกระจาบอกลาย คอสีขาวตัดกับอก และท้องชัดเจน นกที่ยังไม่เต็มวัย สีของลำตัว จะคล้ายนกตัวเมียเต็มวัย แต่อก และสีข้างจะมีสีค่อนข้างคล้ำกว่าลายขีดบนกระหม่อม และบนหลังยังเลือนๆ ไม่เข้มชัด และ ขีดจะค่อนข้างห่างกว่าของนกตัวเมียเต็มวัย คอสีขาว ปากสีอ่อน นิสัยประจำพันธุ์เป็นนกสังคม คือ จะอยู่กันเป็นฝูงขนาดใหญ่ หากินโดยบินไปพร้อมๆ กันไม่มีจ่าฝูงคอยนำ
     
       แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากถูกนกทำลายลงไปมาก จึงอาจพบเพียงไม่กี่ตัว หรือเป็นฝูงขนาดเล็ก 10 - 15 ตัว หากินตามป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า นาข้าว ลงหากิน และบินขึ้นพร้อมกัน บินได้ดีแต่ไม่สูงมาก และสามารถบินหาอาหารได้เป็นระยะทางไกลๆ เมื่อถึงฤดูทำรัง   นกจากที่ต่างๆ จะมารวมฝูงกันเป็นฝูงใหญ่ ทำรังบนต้นไม้ต้นเดียวกัน หรือบริเวณที่ใกล้เคียงกัน แหล่งหากินมักอยู่ใกล้น้ำ หรือเป็นที่ชื้นแฉะ หรือมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ พักนอนตามกอหญ้า กอกก ดงต้นธูปฤษี หรือในพุ่มไม้เตี้ย ๆ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว จะพบลงหากินเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นตามพื้นนา แต่ก็จะเกาะจิกกินตั้งแต่ต้นข้าวเริ่มสุก ในอดีตที่มีเป็นฝูงใหญ่ สร้างความเสียหายให้ชาวนาบ้าง เนื่องจากทำให้เมล็ดข้าวหล่นจากรวงก่อนจะเก็บเกี่ยว แต่ก็ไม่มากจนถึงกับทำลายพืชผลจำนวนมากเหมือนการระบาดของแมลงศัตรูข้าว แหล่งอาศัยหากินมักพบตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า ทุ่งโล่ง นาข้าว ตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงระดับความสูง 1,220 เมตร แต่ส่วนมากจะพบอาศัยอยู่ตามพื้นราบมากกว่า นกที่อยู่ในพื้นที่สูงก็จะอาศัยอยู่บริเวณที่เป็นทุ่งโล่ง ทุ่งหญ้า บนพื้นที่สูงเหล่านั้นอาหารได้แก่ เมล็ดธัญพืชต่างๆ รวมทั้งเมล็ดข้าวเปลือก โดยเกาะจิกกินที่รวงข้าว หรือลงกินที่พื้นเมื่อหลังฤดูเก็บเกี่ยว หนอนแมลงที่พบในกอหญ้า กอวัชพืช รวมทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืชของชาวนา เช่น เพลี้ย เป็นต้น

      ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ถ้าอาหารอุดมสมบูรณ์พอ นกกระจาบธรรมดาจะทำรังวางไข่ตลอดปี แต่ช่วงที่ทำรังมากที่สุดอยู่ระหว่างเดือน ธันวาคม ถึง มิถุนายน หรือช่วงต้นฤดูฝนของภูมิประเทศที่มันอาศัยอยู่ ปกติจะทำรังวางไข่ อยู่บนต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันเป็นฝูงใหญ่วางไข่ครอกละ 2 - 5 ฟอง เปลือกไข่สีขาว ขนาดของไข่ 21.6 X 14.7 มม. มักสร้างรังเป็นรูปกระเปาะ ที่มีขั้วรังยาว และปล่องเข้าออกจากรังอยู่ด้านล่าง ทำรังบนปลายกิ่งของ ต้นไม้ใหญ่ หรือกอไผ่ สูงจากพื้นประมาณ 30 เมตร หรืออาจต่ำกว่านี้ รังมักอยู่บนต้นไม้ที่มีน้ำล้อมรอบ หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ พฤติกรรมการสร้างรังของนกกระจาบธรรมดา นกกระจาบธรรมดาจะเริ่มสร้างรังด้วยวิธีการอันน่าพิศวง เริ่มต้นด้วยการเสาะหา พืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ต้นข้าว ต้นอ้อย จากนั้นมันจะใช้จะงอยปากจิกใบพืช แล้วกระดกหัวให้ใบข้าวนั้นขาดเป็นริ้วไปตามความยาวจนถึงปลายของใบ แต่ก็จะไม่ให้ขาดไปเสียทีเดียวมันจะจิกริ้วใหม่แล้วดึงขึ้นไปแบบเดิมอีก จนได้สัก 3 - 4 ริ้ว แล้วจึงคาบใบไม้กลับไปทีละเส้น ขั้นตอนแรกของการสร้างรังนับว่าเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควรทีเดียว จะเปรียบไปก็เหมือนการลงเสาเข็มนั่นเอง ถ้ากระทำอย่างไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวังแล้ว ก็จะทำให้รังที่จะสร้างต่อไปขาดตกลงมาได้ เมื่อนกระจาบธรรมดาคาบใบหญ้ากลับมายังตำแหน่งที่จะสร้างรังแล้ว มันจะวางใบไม้ทาบลงกับกิ่งไม้ แล้วใช้ตีนเหยียบไว้ที่ปลายด้านหนึ่ง จากนั้นใช้จะงอยปากคาบที่ปลายอีกด้านหนึ่งนำมาพันรอบกิ่งไม้ หลายๆ รอบ แล้วนำปลายที่ใช้ตีนเหยียบไว้มาสอดเข้าไปในห่วงที่พันรอบกิ่งไม้นั้นดึงให้แน่น โดยใช้จะงอยปากมันจะใช้ใบหญ้ามาพันเช่นนี้ หลายครั้ง จนมั่นใจว่ามีความมั่นคงเพียงพอ ต่อจากนั้นจึงสานต่อเป็นรูปวงแหวนขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นโครงร่างของรัง แล้วสานต่อ จนกระทั่งมีรูปร่างคล้ายหมวกทรงสูง แต่จะมีด้านหนึ่งป่องออกมามากว่าด้านหนึ่ง ซึ่งจะใช้เป็นที่สำหรับวางไข่ และเลี้ยงลูกนก

ลักษณะของนก

    นกเป็นสัตว์ที่เราคุ้นเคยกันดี เสน่ห์อันชวนหลงใหลจากขนแสนสวย เสียงไพเราะ และปีกที่โบกบินอย่างอิสระ ทำให้นกเป็นเพื่อนที่น่ารัก และผูกพันกับมนุษย์มายาวนาน เราเปรียบนกเสมือนตัวแทนชีวิตเสรี เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ นกที่ปรากฏตัวในธรรมชาติ ช่วยเติมสีสัน และประดับโลกให้งดงาม ที่สำคัญคือ นกเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ที่เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ และธรรมชาติอย่างมหาศาล

ลักษณะทั่วไปของนก

      นกเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีกระดูกสันหลัง มีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าแมลง ไปจนถึงสูงใหญ่หลายเมตร อีกทั้งยังมีพฤติกรรมแตกต่างกัน แต่ไม่ว่านกจะมีรูปร่าง และพฤติกรรมต่างกันเพียงใด ทุกชนิดก็มีโครงสร้างร่างกายเหมือนกัน

การจำแนกชนิดของนก
      การจำแนกชนิดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการดูนก เพราะจะทำให้นักดูนกทราบว่านกที่เห็นเป็นนกชนิดใด มีพฤติกรรมอย่างไร การดูนกคงไม่สนุกแน่ หากไม่สามารถจำแนกชนิดนกที่พบได้ การจำแนกชนิดนกให้ถูกต้องแม่นยำต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งเกิดจากความพยายามสังเกตลักษณะของนกแต่ละชนิด หมั่นเปิดศึกษาคู่มือ และจดบันทึกรายละเอียด จนกระทั่งสามารถจดจำและจำแนกนกแต่ละชนิด ได้ด้วยตนเองในที่สุด
     
การจำแนกตามลักษณะของขนาด และรูปร่าง
           สังเกตนกที่พบว่ามีขนาดเท่าใด โดยเปรียบเทียบกับนกที่รู้จักดีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อประมาณขนาดของนกที่พบอย่างคร่าวๆ เช่น นกกระจอกบ้าน
    
  การจำแนกตามลักษณะของหาง
           ลักษณะของหางช่วยจำแนกชนิดนกได้ เช่น มีหางสั้นหรือยาว เว้าเป็นแฉกหรือตัดตรง มีขนหางบางเส้นยื่นยาวออกมาหรือไม่ มีปีกกว้างหรือยาว ปลายปีกแหลมหรือกลม
     
 การจำแนกตามลักษณะของปาก
           ลักษณะปากสามารถบอกประเภทหรือวงศ์ของนกได้ เช่น นกกินปลาจะมีปากแหลมยาวตรง นกกินเมล็ดพืชมีปากสั้นแข็งแรง เหยี่ยวมีปากงุ้มแหลมไว้ฉีกเหยื่อ ขนาดและสีของปากยังใช้จำแนกชนิดได้ด้วย
     
 การจำแนกตามลักษณะของสี และลวดลาย
           สังเกตสีขนปกคลุมสำตัวและลวดลายที่เป็นลักษณะเด่น เช่น คิ้วหรือแถบเหนือตา แถบบนกระหม่อมหรือหน้าผาก วงแหวนรอบตา สีของปาก สีอ่อนหรือเข้ม
                บริเวณส่วนล่างลำตัวสังเกตสีของท้อง แถบหรือลายขีดบนอก สีของขา
                ด้านบนลำตัว สังเกต ขีด จุดหรือลาย มีแถบบนปีกหรือไม่ ซึ่งอาจจะเห็นได้เวลาบิน สีของปีกต่างจากหลังอย่างไร สีบริเวณตะโพก มีแถบหางหรือไม่ สีของปลายหาง
     
 การจำแนกตามลักษณะของพฤติกรรม
           นกแต่ละชนิดมีท่าทางการแสดงออกและพฤติกรรมแตกต่างกัน ซึ่งสามารถใช้ช่วยจำแนกชนิดนกได้ เริ่มจากสังเกตท่าเกาะพัก ว่านกเกาะในท่าตรงตั้งฉากหรือขยับตัวไปมา ชอบแกว่งหางหรือไม่ กระดกหางขึ้นลงอยู่เสมอหรือชอบแพนหาง
                สังเกตการไต่ต้นไม้ว่านกเกาะตัวตั้งตรงอย่างนกหัวขวานหรือไต่หัวลงอย่างนกไต่ไม้ บินขึ้นลงเป็นลอนคลื่นหรือบินตรงไป ชอบบินร่อนหรือโบกปีกกระพือไปมา
                เสียงร้องของนกก็ช่วยจำแนกชนิดนกได้ แม้ว่าจะไม่เห็นตัวนก สำหรับนกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เสียงร้องต่างกัน การสังเกตเสียงร้องต่างกัน การสังเกตเสียงร้องจะช่วยจำแนกนกทั้งสองชนิดออกจากกันได้ง่ายยขึ้น